ตำนานผีฟ้าพญาแถน





ตำนานผีฟ้าพญาแถน
ชื่ออื่นๆ : ผีแถน ผีไท้ ผีฟ้า ผีหลวง 
คำว่า พญา คือศักดิ์ชั้นกษัตริย์ ส่วน พระยา คือยศศักดิ์ในชั้นขุนนาง เพราะฉะนั้น แถน จึงสามารถมีได้ทั้ง พญาแถนที่เป็นระดับชั้นกษัตริย์ราชนิกูลเช่น องค์แถนหลวง และพระยาแถนที่เป็นชั้นเจ้านายเช่น แถนแก้ว
ผีฟ้า แปลตามตัวคือผีที่อยู่บนฟ้า นั่นก็คือเทวดานั่นเอง โดยเป็นคำเรียกรวมๆ ไม่เจาะจงองค์ใดองค์หนึ่ง เราจึงมักเรียกรวมกันว่า ผีฟ้าผีแถนหรือผีฟ้าพญาแถน โดยแถนที่มียศศักดิ์ใหญ่ที่สุดคือ แถนหลวง(พระอินทร์) และยังมีแถนองค์อื่นๆ ตามที่มีชื่อในกลอนลำในพิธีรำผีฟ้าเช่น แถนตื้อเฒ่า แถนลือ แถนหล่อ แถนท่อฟ้า แถนแก้ว และแถนองค์อื่นๆ อีกมากมาย ตามความเชื่อแถนมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของมนุษย์โลก ชาวอีสานเชื่อว่าเหตุใดก็แล้วแต่ล้วนเป็นไปตามการกระทำของแถน หากมีเหตุเพศภัยอันใดที่หาสาเหตุและทางแก้ไม่ได้ ก็จะทำการติดต่อสื่อสารกับแถนหรือผีฟ้า โดยผ่านตัวกลางในการสื่อสารคือ ไทเทิง และอาจมีชื่อเรียกตามแต่ละท้องที่เช่น หมอลำผีฟ้า หมอลำธรรม หมอเหยา นางเทียม สุดแต่วัฒนธรรมของแต่ละท้องที่ โดยจะทำการติดต่อสื่อสารกับแถนโดยวิธีการรำเสี่ยงทาย การประกอบพิธีแต่ละครั้งก็จะมีเครื่องคายต่างๆ เช่น หมากเบ็ง ผ้าซิ่น ผ้าขาว ห่อนิมนต์ ไข่ไก่ น้ำหอม(เหล้าขาว) และอื่นๆ โดยการรำจะแบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ครอบแถน คือการเชิญแถนลงมาเทียมร่าง จากนั้นก็จะทำการรำส่องหาข้อหาปล่อง คือการรำหาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุเพศภัยต่างๆ เมื่อทำการเจรจาตกลงกับแถนเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนการรำผีฟ้า ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สนุกสนานครื้นเครง พอเสร็จพิธีก็จะเป็นการรำส่งแถนกลับวิมานของตน โดยผู้ประกอบพิธีนั้น มีที่มาจากบุคคล 3 ประเภท ประเภทแรกคือเป็นคนที่ผีฟ้าเลือกเอง โดยอาจจะมาในนิมิต หรืออะไรก็สุดจะแล้วแต่ ประเภทที่สองคือสืบต่อกันทางสายเลือดเช่นแม่เป็นผีฟ้าลูกจึงเป็นผีฟ้าด้วย ประเภทที่สามคือ คนที่เคยเป็นหนี้บุญคุณผีฟ้า เช่นเมื่อผีฟ้ารักษาให้จนหายแล้ว เมื่อมีการประกอบพิธีที่ใด คนที่ผีฟ้ารักษาให้จะต้องติดตามไปประกอบพิธีด้วยทุกครั้งเรียกว่าคณะ และในการประกอบพิธีนั้น จำเป็นต้องมีดนตรีประกอบ โดยจะเรียกคนที่เล่นดนตรีประกอบพิธีนี้ว่า หมอม้า เปรียบเสมือนผู้เป็นม้าพาหนะให้แถนเสด็จลงมาเทียมร่าง มีหมอแคน หมอพิณ หมอกลองและอื่นๆ ตามแต่พื้นที่ เช่นในพิธีเหยาของชาวภูไทก็จะมีปี่ภูไทร่วมเสริมด้วย ในแต่ละปีผู้ประกอบพิธีลำผีฟ้าจะมีการจัดพิธีเลี้ยงผีขึ้น เพื่อเป็นการตอบแทนผีฟ้าที่ช่วยสงเคราะห์ทุกข์สุขของผู้คน โดยจะมีพิธีกรรมลงข่วงฟ้อนผี ซึ่งเป็นพิธีที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน และอาจจะคล้ายคลึงกันในบางวัฒนธรรมเช่น การละเล่นเรือมแกลมอของอีสานใต้ ส่วนประเพณีนางเทียมในจังหวัดหนองบัวลำภูนั้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์น่าจะมาจากวัฒนธรรมการฟ้อนผีมดผีเม็งของชาวไทลื้อเมืองเชียงรุ้ง ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยเจ้าปางคำอพยพหนีสงครามลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้าสุริยวงศาธรรมมิกราชกษัตริย์เมืองล้านช้าง ก่อนจะตั้งรกรากที่นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ทำให้ติดวัฒนธรรมการตั้งปราสาทนกหัสดีลิงค์ในพิธีศพของพระเถระและชนชั้นเจ้านายซึ่งอาจรวมไปถึงวัฒนธรรมการทรงเจ้านางสีดาที่เป็นผู้ประกอบพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ ทำให้เกิดการขยายวงของนางเทียมและพิธีฟ้อนผีมายังเมืองหนองบัวลุ่มภูด้วย ในทางจิตวิทยาพิธีกรรมเช่นนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ และสนุกสนานทำให้ลืมความเจ็บป่วยไปได้ ทั้งยังช่วยให้ผู้คนตั้งอยู่ในศีลธรรมเพราะมีความเชื่อว่า คนไม่เห็นแต่ผีเห็น

:: ขอขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต 

#ชยาเป็นคนเล่า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ผีนางอัปสรา ปราสาทขอม

อาถรรพ์อาชีพหมอดู

เกล้านางนี เมาลีโพธิสัตว์