เจ้านางน้อยอินทร์แปง





เจ้านางน้อยอินทร์แปง หรือเจ้าย่าน้อยอินทร์แปง

(แปง เป็นภาษาโบราณแปลว่า สร้าง) คำว่าอินทร์แปง จึงหมายถึง พระอินทร์ทรงสร้าง พระนามนี้มาจากความงดงามของเจ้าย่าน้อย ที่งามล้ำเหนือชาวเมืองมนุษย์ งามไร้ที่ติประหนึ่งพระอินทร์ทรงเนรมิตรขึ้น ต่างจากคำว่าอินทร์แปลง คือองค์อินทร์ท่านแปลงร่างมา ในนามานุกรมพญานาคองค์อินทร์แปลงคือองค์อินทร์คำไหล หรือพญาอินทรนาคราช แห่งถ้ำดินเพียง ย่าน้อยอินทร์แปง กับองค์อินทร์แปลง จึงไม่ใช่พระองค์เดียวกันอย่างที่หลายคนเรียกผิด

ที่มาของการเล่านิทานเรื่องนี้เริ่มต้นช่วงเดือนสิงหาคมปี 2560 ในเวลาค่อนจะสาง เกิดฝันเห็นขบวนเสด็จของใครก็ไม่ทราบ ล่องตามลำน้ำโขงมา ในความรู้สึกเหมือนจะเป็นช่วงถนนริมโขง อ.ปากชม ในขบวนเสด็จนั้นมีเรือหลายลำ ลำใหญ่กลางขบวนมีลักษณะเป็นเก๋งเรือ ปิดบังช่องหน้าต่างด้วยผ้าม่าน ในฝันมีใคร(รึเปล่า?)หลายคนรอชมขบวนเสด็จ นั่งเรียงรายเต็มฝั่งถนน ต่างดูตื่นเต้นระคนดีใจ บ้างพนมมือขึ้นไหว้เหนือหัวตอนขบวนเสด็จเคลื่อนผ่าน เสียงสนทนากล่าวว่า "ขบวนเสด็จเจ้าย่าน้อยอินทร์แปง กำลังเสด็จไปตรวจหัวเมือง"

นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อเจ้าย่าน้อยอินทร์แปง แต่กลับรู้สึกคุ้นชินกับชื่อนี้เหลือเกิน

หลังจากนั้นจึงตั้งใจจะศึกษาเรื้องราวที่เกี่ยวกับท่านมาโดยตลอด ด้วยความรู้สึกผูกพันธ์อยู่ลึกๆ ว่าตัวเราเองยังเทิดทูนและภักดีต่อพระองค์อยู่

ข้อมูลที่ได้เป็นเรื่องรามปรัมปรา ทั้งจากได้ยินได้ฟังได้อ่านมา รวมทั้งเขียนออกมาจากความรู้สึกลึกๆ ในแต่ละขณะจิตเช่นเดียวกับเรื่องของเจ้านางทอหูก มีความว่าดังนี้

เจ้านางน้อยอินทร์แปง เป็นธิดาของพญานาคราชผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพระองค์ใด แต่ตามตำนานคือท่านมีมารดาเป็นมนุษย์ ท่านจึงอยู่ในรูปลักษณ์ของมนุษย์มากกว่าจะเป็นพญานาค แรกเริ่มเดิมทีท่านมีรูปกายงดงามมาก ผิวกายขาวนวลผ่อง ผมยาวสีดำขลับสลวย จึงได้ชื่อว่าเจ้านางน้อยอินทร์แปง ตามที่อธิบายไปข้างต้น ท่านเป็นลูกครึ่งนาคและมนุษย์จึงมีความเป็นทิพย์อยู่ในตัวเช่นเหล่านาคทั่วไป ทำให้อายุขัยของท่านมากกว่ามนุษย์ธรรมดาหลายเท่า

แต่นั่นทำให้ท่านต้องทนทุกข์จากการที่ต้องสูญเสียคนที่ท่านรักไปทีละคน จนญาติพี่น้องและคนรักของท่านล้มหายตายจากหมดทุกคน เจ้านางน้อยอินทร์แปงจึงมีพระทัยหม่นเศร้า จนเส้นผมที่เคยดำขลับกลับหม่นลงเป็นสีเทา นัยตาท่านที่เคยสดใสก็เหม่อลอย มองออกไปอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย

หลังจากที่ท่านสูญเสียบุคคลที่ท่านรักไปจนหมดแล้ว ท่านก็ได้หนีจากเมืองมนุษย์ไป สละกายหยาบของตนอยู่ในรูปกายทิพย์ มีลักษณะความเป็นอยู่ดังเช่นหลวงปู่สำเร็จลุน เณรคำ เณรแก้ว เพียงแต่ท่านไม่ได้อยู่ในสมณะเพศเท่านั้น

คนที่พบเจอท่านส่วนมาก ในอดีตจะเป็นพระอริยะที่ออกธุดงค์ในป่าเขาลำเนาไพรเสียส่วนใหญ่ ยากนักที่คนธรรมดาจะเห็นท่าน เว้นเสียแต่ผู้มีบุญบารมีมากและเคยสร้างกรรมร่วมกับท่านมาก่อน

เจ้าย่าน้อยอินทร์แปงได้รับการเคารพศรัทธาในฐานะผู้วิเศษท่านหนึ่ง คล้ายๆ กับการบูชาสิทธาในพม่า แต่ในอดีตท่านจะได้รับการบูชาเป็นการจำเพาะในราชสำนักลาวด้วย

ปัจจุบันท่านมีหน้าที่ในการดูแลและปกครองหัวเมืองต่างๆ แบ่งเบาภาระงานพญานาคราชชั้นผู้ใหญ่ เคยมีคนกล่าวว่าแม้แต่องค์นาคาธิบดีทั้ง 9 พระองค์ยังต้องเกรงใจท่าน เนื่องจากท่านเคยได้รับพรจากพระอิศวรให้คงรูปอยู่เป็นอมตะ และช่วยดูแลสารทุกข์สุขดิบของเหล่านาคและมนุษย์ทั้งหลายในเขตประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน จึงถือว่าท่านเป็นมหานาคีชั้นสูง ในระดับใกล้เคียงกับย่าทวดแอกไค้เลยทีเดียว

เจ้าย่าน้อยอินทร์แปง ท่านถือสัจจะและคุณธรรมเป็นอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นลูกหลานเคารพศรัทธาท่าน แล้วปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรม ย่อมได้รับพรและการคุ้มครองจากเจ้าย่า ปัจจุบันพระนามท่านยังไม่เป็นการแพร่หลายเพราะในอดีตท่านถูกบูชาเพียงในราชสำนักและเจ้านายระดับสูงเท่านั้น ต่อมาจึงเริ่มแผ่ขยายมายังคนทุกชนชั้น จึงถือเป็นมงคลที่ได้เขียนเล่าเรื่องเจ้าย่าน้อยอินทร์แปงในครั้งนี้

ขอทูลกระหม่อมโปรดรักษา
4/12/2560


#ชยาเป็นคนเล่า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ผีนางอัปสรา ปราสาทขอม

อาถรรพ์อาชีพหมอดู

เกล้านางนี เมาลีโพธิสัตว์